แหล่งกำเนิดและการแพร่กระจาย


 << back 



นับเนื่องจากช่วง 600 ปีก่อนคริสตกาล มะกอกโอลีฟก็ได้แพร่ชยายไปทั่วทุกแห่งหนบนดินแดนรอบๆ ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน จนจรดเมืองทริโปลี ตูนิส และเกาะซิซีลี อย่างไรก็ตาม Presta ได้บันทึกว่า บนดินแดนของอิตาลียุคโบราณนั้น ร่องรอยของไม้มะกอกสามารถสืบย้อนไปได้ถึง 300 ปีก่อนการล่มสลายของอาณาจักรทรอยจะบังเกิดขึ้น ( เมื่อ 1200 ปีก่อนคริสตกาล ) แต่มีผู้บันทึกเหตุการณ์สมัยโรมันอีกท่านหนึ่งคือ Fenestella ที่ยังคงยืนยันในทรรศนะเดิมที่เชื่อว่าได้มีการนำเอาพันธุ์ไม้มะกอกโอลีฟจากจากแหล่งอื่นเข้ามายังอิตาลีในรัชสมัยการปกครองของ Lucius Tarquinius Priscus ( 616 - 578 ปีก่อนคริสตกาล ) โดยสันนิษฐานว่าจะนำมาจากทริโปลี หรือ กาเบส (ตูนิเซีย) นั่นเอง 


   การเพาะปลูกมะกอกค่อยๆ แพร่ขยายอาณาเขตจากตอนใต้ละเรื่อยไปจนถึงตอนเหนือ ตั้งแต่คาลาเบรียจนจรดลิกูเรีย และเมื่อชาวโรมันเหยียบย่างเข้าสู่ดินแดนของแอฟริกาเหนือ ชาวเบอร์เบอร์ซึ่งเป็นชนพื้นถิ่นก็ได้เรียนรู้ถึงกรรมวิธีการเพาะพันธุ์ ขยายพันธุ์มะกอกป่า จนต่อมาการเพาะปลูกมะกอกก็แพร่ขยายอาณาเขตออกไปจนสุดลูกหูลูกตาภายใต้การยึดครองของอาณาจักรโรมัน
         ชาวโรมันได้อาศัยมะกอกโอลีฟเป็นอาวุธในการล่าอาณานิคมดินแดนรอบๆ ทะเลเมดิเตอร์เรเนียนโดยสันติวิธี กล่าวคือ สนับสนุนให้มีการขยายเพาะปลูกอย่างต่อเนื่อง อันเป็นการลดแรงต่อต้านจากชนพื้นถิ่น สำหรับในมาร์ซาล์ซ ได้มีการนำพันธุ์ไม้มะกอกโอลีฟมายังดินแดนแห่งนี้สมัยราว 600 ปีก่อนคริสตกาล จนแพร่ขยายออกไปทั้วทั้งมณฑลกอล นอกจากนี้มะกอกโอลีฟบนเกาะซาดิเนียก็ปรากฎขึ้นในยุคสมัยโรมันนี้เช่นกัน ส่วนบนเกาะคอร์สิการ์นั้น เล่ากันว่าชนชาติเจนนัวเป็นผู้นำเอาต้นมะกอกโอลีฟเข้ามายังเกาะแห่งนี้ภายหลังจากการล่มสลายของอาณาจักรโรมัน
          การเพาะปลูกมะกอกโอลีฟเริ่มแพร่ขยายเข้ามาถึงประเทศสเปนในยุคพินิเซียเป็นมหาอำนาจทางทะเล (1050 ปีก่อนคริสตกาล) นับตั้งแต่นั้นจนกระทั่งถึงสมัยที่จอมทัพซิปิโอแห่งอาณาจักร์โรมัน (212 ปีก่อนคริสตกาล) นำกำลังเข้ามา และแม้กระทั่งถึงยุคที่โรมันมีการออกกฎข้อบังคับขึ้น (45 ปีก่อนคริสตกาล) การเพาะขยายมะกอกโอลีฟในสเปนก็มิได้มีความโดดเด่นแต่อย่างใด ในช่วงหลังสงครามพูนิคครั้งที่สามนั่นเอง มะกอกโอลีฟเกิดการแพร่ขยายออกไปในอาณาบริเวณหุบเขาเบติกา และยังกระจายพื้นที่ไปถึงตอนกลางและบริเวณชายฝั่งเมดิเตอร์เรเนียนของดินแดนไอบีเรียเพนนินซูลา ทั้งนี้ผู้ที่นำเอาพันธุ์ไม้นานาชนิดไปสู่พื้นที่ทางตอนใต้ของสเปนก็คือชาวอาหรับ และชาวอาหรับก็ยังมีบทบาทสำคัญที่ทำให้สเปนมีการเพาะปลูกพืชอย่างมากมาย ด้วยเหตุนี้ ภาษาสเปนคำว่า olive ( aceituna ) คำว่า wild olive treee ( acebuche ) จึงมีรากศัพท์มาจากภาษาอาหรับนั่นเอง
          เมื่อทวีปอเมริกาถูกค้นพบในปี ค.ศ.1492 การทำสวนมะกอกก็มิได้จำกัดอยู่เพียงแค่ดินแดนแถบเมดิเตอร์เรเนียนอีกต่อไป มะกอกโอลีฟต้นแรกจากเมืองซีวิลได้ลำเลียงเข้ามายังหมู่เกาะอินดีสตะวันตก จนต่อมาก็ข้ามฝั่งเข้ามาสู่ผืนแผ่นดินใหญ่บนทวีปอเมริกา ในราวปี ค.ศ. 1560 สวนป่ามะกอกก็เกิดขึ้นในเมืองเม็กซิโก เปรู แคลิฟอร์เนีย ชิลี และอาร์เจนตินา เมื่อต้นไม้ต้นหนึ่งระหกระเหินไปสู่แดนไกลครั้งแล้วครั้งเล่า จากสงครามหนึ่งสู่อีกสงครามหนึ่ง ต้นไม้ต้นนั้น ที่ยังยืนตระหง่านถึงวันนี้ ก็คือต้นมะกอกโอลีฟ  the old Arauco olive tree
          ยุคหลังต่อมา มะกอกโอลีฟได้แพร่พันธุ์ไปนอกเหนือดินแดนแถบเมดิเตอร์เรเนียน และในปัจจุบันนี้ สวนมะกอกฝรั่งก็ข้ามน้ำข้ามทวีปจากถิ่นกำเนิดดั้งเดิมไปไกลแสนไกล นับตั้งแต่ แอฟริกาเหนือ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และจีนแผ่นดินใหญ่ ถ้าจะหยิบยกเอาคำของนักกวี Duhamel  ที่กล่าวเปรียบเปรยถึงความดาษดื่นของไม้มะกอกไว้ว่า " ณ ที่ใด ต้นมะกอกไม่อาจอยู่รอดได้ ณ ที่นั้น ชาวเมดิเตอร์เรเนียนก็ไม่อาจมีชีวิตได้เช่นกัน "  กล่าวอย่างง่ายๆ ก็คือ " ที่ใดมีแสงอาทิตย์ส่อง ที่นั้นต้นมะกอกจะชอนไชรากลงดิน และแผ่ขยายออกไปอย่างเต็มที่ "