คนไทยนิยมดอกไม้หอม
และนำมาปลูกประดับสวน หรือปลูกไว้ใช้ประโยชน์มาเป็นเวลานานที่เป็นที่รู้จักกันดี
เช่น มะลิ พุดซ้อน บุนนาค พิกุล พุทธชาด ชำมะนาด กุหลาบ
มณฑา สารภี ฯลฯ พันธุ์ไม้เหล่านี้ พวกหนึ่งเป็นไม้ต่างถิ่น
มีทั้งถิ่นใกล้ เช่น จีน อินเดีย และถิ่นไกล เช่น
อเมริกาเขตร้อน จึงนับได้ว่าดอกไม้หอมบางชนิดมาจากถิ่นไกลจริงๆ
หลายชนิดมีการนำเข้ามาปลูกในประเทศไทยเป็นเวลาช้านาน
ตั้งแต่สมัยที่ไทยเริ่มมีการติดต่อกับนานาประเทศ
แต่อาจจะเข้ามามากขึ้นในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
และได้มีการขยายพันธุ์ปลูกต่อๆ กันไปจนแพร่หลาย
พรรณไม้หลายชนิดเจริญงอกงามได้ดี พบปลูกกันทั่วไป
บางชนิดก็มีเมล็ดกระจายไปขึ้นตามชายป่าได้เอง
และขึ้นอยู่ทั่วไปจนเกิดความเข้าใจกันเองว่าเป็นพันธุ์ไม้ของไทยแต่จะเป็นไม้เทศหรือไม้ไทยก็ตามหากมีกลิ่นหอมเป็นที่พอใจ ปลูกเลี้ยงไม่ยากจนเกินไป
ก็จะเป็นที่นิยมกันค่อนข้างแพร่หลาย
โดยทั่วๆไปดอกไม้ที่มีกลิ่นหอม มักจะมีสีสันไม่สะดุดตา
มักจะเป็นพวกที่มีดอกเล็ก สีขาว หรือสีอ่อนๆ
แต่ก็มีหลายชนิดที่มีดอกใหญ่ สีสวย แล้วยังมีกลิ่นหอมอีกด้วย
ช่วงเวลาที่ดอกไม้บานจะแตกต่างกันไปตามชนิดส่วนใหญ่บานตอนเย็นหรือพลบค่ำ
หรือบานตอนเช้าความยาวของช่วงเวลาที่ดอกบานก็เช่นกัน
บางชนิดบานเพียงครึ่งวัน หรือ 1-2 วันก็ร่วงไป
บางชนิดบานหลายวัน เป็นอาทิตย์ หรือเป็นเดือนก็มี
ในแต่ละชนิดยังมีความแตกต่างกันของช่วงที่ส่งกลิ่นหอมแรงที่สุดอีก
นอกจากนั้นจะสังเกตได้ว่า พวกดอกไม้ที่มีกลิ่นหอมนั้น
อาจแยกได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ ตามลักษณะของการส่งกลิ่น คือ
หอมใกล้ พวกนี้ต้องดมที่ดอกจึงจะได้กลิ่น
คงใกล้เคียงกับที่เรียกว่า หอมอ่อนๆ
กับพวกที่มีกลิ่นหอมขจรขจาย
ฟุ้งไปไกล หรือเรียกว่ากลิ่นหอมแรง
และถ้าจะแยกตามประเภทของกลิ่น คงจะแยกได้อีกมากมาย
มีทั้งกลิ่น หอมหวาน หอมฉุน หอมเย็น หอมเอียน หอมมัน
หอมละมุน หอมตลบ หอมอบอวล เป็นต้น
และยังมีคำที่ใช้บอกชนิดของกลิ่นว่ามีกลิ่นคล้ายอะไรอีกด้วย
เช่น หอมคล้ายข้าวใหม่ อย่างไรก็ตาม ความพอใจ
ชื่นชอบใจต่อกลิ่นย่อมแตกต่างกันไปตามความเคยชิน
ตามกลุ่มเผ่าพันธุ์ และประเพณีของคนในกลุ่มนั้นๆ
ดังนั้นในกลุ่มดอกไม้ที่ว่าหอมนั้น
หลายชนิดอาจไม่เป็นที่ยอมรับกันทั่วไป
แต่คงไม่มีใครปฏิเสธว่าไม่มีกลิ่นเสียเลย... |